จัดการพืชรับมือภัยแล้งราก ลำต้น ใบ มีท่อน้ำเชื่อมต่อกัน เมื่อใบคายน้ำ รากจะดูดน้ำขึ้นสู่ลำต้น สู่ใบ เมื่อน้ำไม่พอพืชจะเหี่ยวเฉา คือหลักพื้นฐานของพืช ใบพืชจะมีปากใบ เหมือนประตูเปิดปิดน้ำ ตามปกติปากใบจะเปิด และจะมีการคายน้ำออกไปในรูปของไอน้ำ บริเวณรูเปิดปากใบจะมีท่อลำเลียงน้ำที่ต่อกับลำต้นและราก เมื่อน้ำจากเซลล์ใบถูกคายออกไป ทำให้เซลล์ใบเหี่ยวลง ก็จะเกิดแรงดึงดูดน้ำจากท่อลำเลียงน้ำ เป็นผลให้น้ำเคลื่อนย้ายจากลำต้นเข้าสู่ใบ เมื่อน้ำในลำต้นน้อย ทำให้รากพืชต้องดูดน้ำจากดินเพิ่มขึ้น หมุนเวียนกันแบบนี้อย่างมีสมดุล คือ พืชจะดูดน้ำจากดิน เข้าสู่ลำต้น และไปสู่ใบ เมื่อพืชไม่ได้รับน้ำ การดูดน้ำขึ้นไปก็จะไม่มี ใบจึงเหี่ยวเฉา ถ้ามากต้นก็เหี่ยวเฉา
ผลกระทบจากการขาดน้ำจะช้าหรือเร็วขึ้นกับแต่ละชนิดของพืช ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังใบพืช ทำให้ใบพืชซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น และลมที่พัดแรง ล้วนทำให้รูเปิดปากใบเปิดมากขึ้น ทำให้มีการคายน้ำเพิ่มขึ้น และเมื่อใดที่ดินมีความชื้นน้อย น้ำไม่พอ การเหี่ยวของพืชก็จะเร็วขึ้นด้วย
สรุปว่าหน้าแล้ง ต้องจัดการน้ำในดินให้มีความชื้นพอเหมาะ จัดการพืชให้คายน้ำน้อยๆ จัดการธาตุอาหารให้พืชพร้อมรับการขาดน้ำ และจัดการพืชให้พร้อมรับภาวะแห้งแล้ง
- การจัดการน้ำในดินหน้าแล้ง ให้ลดการระเหยของน้ำให้มากที่สุด เช่น คลุมโคนต้นพืช จะด้วยเศษพืช ซังข้าว ใบอ้อย หรือพลาสติกปลูกพืชก็ตามความเหมาะสม ลดแสงแดดที่ส่องลงมาที่ผิวดิน เช่น พลางแสง ให้ร่มเงาในพืชขนาดเล็ก ก็จะช่วยได้ วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เก็บน้ำในดินไว้ได้นาน และจะต้องผสมผสานวิธีการให้น้ำแบบต่างๆ ที่ประหยัดน้ำด้วย
- การลดการระเหยน้ำของใบพืช
1) ลดอุณหภูมิ ลดรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์ที่ลงสู่พืช เมื่อใบได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการคายน้ำจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 10 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิใบสูงขึ้น ไอน้ำในใบ และไอน้ำในบรรยากาศมีความแตกต่างกันมากขึ้น การคายน้ำก็จะเพิ่มมากตามไปด้วย แต่หากอุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียส ปากใบก็จะปิด หรืออุณหภูมิต่ำมากๆ ปากใบก็จะปิดเช่นกัน 2) รักษาความชื้นรอบๆ ต้นพืชไม่ให้แตกต่างกับความชื้นของใบพืชมากนัก เพราะการคายน้ำจะเกิดอย่างเร็วมากเมื่ออากาศรอบๆ ต้นพืชแห้ง หรือช่วงในบรรยากาศมีความชื้นน้อย ทำให้การคายน้ำเกิดได้มากและรวดเร็ว
3) ลดกระแสลมปะทะใบ เมื่อใบโดนลม จะกำจัดไอน้ำที่ผิวใบออกไป การคายน้ำจะสูงขึ้น แต่ถ้าลมแรงมากๆ อัตราการคายน้ำอาจจะลดลงเพราะปากจะใบปิด - จัดการพืชให้พร้อมรับภัยแล้ง เช่น บำรุงพืชให้มีรากสมบูรณ์ ลึกและแผ่ขยาย เพื่อให้ความสามารถดูดน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องดูแลทั้งพืชและจัดการดินให้ร่วนซุย ตลอดจนการเลือกพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพแล้งแห้ง ใช้น้ำน้อย หรือจัดรูปแบบการปลูกที่เหมาะสม เช่น ปลูกผักแบบมีหลังคา
- ให้ปุ๋ยชีวภาพ PGPR (rhizobacteria)
จะช่วยให้พืชเพิ่มความทนทานต่อภาวะแห้งแล้ง เนื่องแบคทีเรีย การทำให้พืชมีรากสมบูรณ์ และมีแบคทีเรียช่วยให้เกิดโอร์โมนที่ทำให้พืชทนแล้งเพิ่มขึ้น
นอกจากนั้นพบว่าการเสริมการให้ธาตุอาหาร โพแทสเซียม ซิลิกอน และฮอร์โมน กรดซาลิไซลิก, ออกซิน, ยิบเบอเรลลิน, ไซโตไคนิน และ กรดแอบไซซิค จะช่วยให้พืชทนแล้งได้เพิ่มขึ้น
ธัชธาวินท์ สะรุโณ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 สงขลา
อ้างอิง
https://www.researchgate.net/publication/257828589_Plant_Drought_Stress_Effects_Mechanisms_and_Management
https://www.researchgate.net/publication/291016280_Enhancement_of_drought_stress_tolerance_in_crops_by_plant_growth_promoting_rhizobacteria
https://sites.google.com/site/chiwwithyakhxngphuchphuchdxk/home/reuxng-thi-6-kar-khay-na-khxng-phuch
http://web.agri.cmu.ac.th/hort/course/359311/PPHY2.htm#stoma


